วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

โครงการอ่างเก็บน้ำโป่งกระทิงตามพระราชดำริ และการพระราชทานที่ดินทำกินฯ

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ณ กิ่งอำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี (ดูรายละเอียด)  ในคราวนั้นได้มีผู้แทนชาวกะเหรี่ยง กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานที่ดินจำนวน 10,000 ไร่ในเขตตำบลบ้านบึง กิ่ง อ.สวนผึ้ง อันเป็นที่รกร้างว่างเปล่าบริเวณห้วยซาเดิ้งและห้วยโป่งลึก เพื่อจัดสรรที่ดินในพระบรมราชูปถัมภ์ให้ชาวกะเหรี่ยงได้อาศัยทำกินแบบเดียวกับโครงการหุบกระพง และสำนักราชเลขาธิการได้เสนอเรื่องให้จังหวัดพิจารณา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนิน
ไปทอดพระเนตรเขื่อนกักน้ำโป่งกระทิง
เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2521 
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2518 กระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมร่วมกันที่ จ.ราชบุรี เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ และที่ประชุมมีมติว่า บริเวณที่ดินที่ราษฎรขอพระราชทานนั้นเป็นป่าต้นน้ำลำธาร ไม่ควรทำการจัดสรร แต่เพื่อสนองความต้องการของราษฎรตามพระราชประสงค์ จึงให้ทำที่ดินซึ่งหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่สงวนไว้สองข้างทางสายจอมบึง-โป่งกระทิง (ระหว่าง กม.ที่ 27.000 ถึง 30.000) ขนาดกว้างข้างละ 2 กิโลเมตร ยาว 3 กิโลเมตร รวมเนื่อที่ 12 ตารางกิโลเมตร จำนวนเนื้อที่ 7,500 ไร่ มาจัดสรรแก่ราษฎร

ซึ่งต่อมาปรากฏว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าเตรียมการสงวน (ป่า 85) แต่มีราษฎรทั้งชาวกะเหรี่ยงและชาวไทยได้เข้าไปครอบครองและทำประโยชน์อยู่แล้ว และสรุปผลการพิจารณาของคณะกรรมการดำเนินงานจัดสรรที่ดินตามพระราชประสงค์ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมติให้ดำเนินงาน ดังนี้
  1. ให้จังหวัดเป็นเจ้าของโครงการ โดยกรมต่างๆ ให้ความร่วมมือด้านวิชาการ และงบประมาณ ดำเนินงานในลักษณะที่เกี่ยวข้อง 
  2. ให้กรมที่ดินจัดส่งช่างรังวัดออกไปจัดทำแนวเขตและแผนที่ที่ราษฎรเข้าไปครอบครองไว้เป็นหลักฐาน
  3. ให้นายอำเภอจอมบึงและปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่ง อ.สวนผึ้ง ทำบันทึกลักษณะการเข้าถือครองที่ดินของราษฎรตามแผนที่รังวัดของกรมที่ดินเพื่อประกอบการพิจารณาปัญหาการครอบครองก่อนการจัดสรร
  4. กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการสำรวจจำแนกสมรรถนะที่ดินและปรับปรุงวางแผนการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับชนิดพืช
  5. กรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์การเกษตร
  6. ให้กรมชลประทานดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ


ดังนั้นกรมชลประทานจึงได้จัดทำ "โครงการอ่างเก็บน้ำโป่งกระทิง" ซึ่งประกอบด้วยตัวเขื่อน ทางล้นน้ำฉุกเฉิน ท่อส่งน้ำ และระบบการชลประทาน ตัวเขื่อนกักน้ำโป่งกระทิงเป็นเขื่อนดินปิดกั้นลำห้วยโป่งกระทิง สูง 10 เมตร ยาว 460 เมตร สร้างขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริให้มีแหล่งน้ำสำหรับเพาะปลูก และการอุปโภคของราษฎร ในเขตหมู่บ้านโป่งกระทิง หมู่บ้านลำพะ หมู่บ้านท่าประจันต์ หมู่บ้านคา หมู่บ้านบึงนาน้อย และหมู่บ้านชัฎป่าหวาย ตลอดจนราษฎรในเขตพื้นที่โครงการจัดที่ดินหมู่บ้านตัวอย่างโป่งกระทิงที่ผู้ครอบครองไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่มีสิทธิ์ทำกินชั่วลูกหลานตกทอดเป็นมรดกถึงทายาทได้


อ่างเก็บน้ำโป่งกระทิง ตามพระราชดำริ
ต.บ้านบึง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรเขื่อนกักน้ำโป่งกระทิง บริเวณอ่างเก็บน้ำโป่งกระทิง บ้านโป่งกระทิง กิ่ง อ.สวนผึ้ง (ในขณะนั้น) ได้ทอดพระเนตรโครงยกของบานปิด-เปิดอาคารบังคับน้ำให้ไหลลงลำห้วยเดิม จากนั้นเสด็จฯ เข้าปะรำเพื่อทรงฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับ "โครงการจัดที่ดินหมู่บ้านตัวอย่าง" ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี ได้พระราชทานกระแสพระราชดำริว่า

"เจ้าหน้าที่ฝ่ายจังหวัด และกรมชลประทานน่าจะสำรวจแม่น้ำลำห้วยตามสันเขาในเขตพื้นที่กิ่ง อ.สวนผึ้ง ให้มากขึ้น เพื่อได้พิจารณาจัดทำฝายและอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กต่อไป เป็นการกักเก็บน้ำให้ค่อยๆ ไหลซึมลงในดินสำหรับยกระดับน้ำในดินให้สูงขึ้น เพื่อราษฎรจะได้มีแหล่งน้ำใช้สำหรับการเกษตรกรรม และการบริโภคเพิ่มยิงขึ้น"

หลังจากนั้นได้ทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างล้นหลาม  ทรงพระราชปฏิสันถารเกี่ยวกับทุกข์สุขของราษฎร และทรงพระกรุญาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แพทย์ที่โดยเสด็จพระราชดำเนินทำการตรวจรักษา และรับผู้ป่วยเจ็บเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์

จากพระราชประสงค์ในการพระราชทานที่ดินทำกินให้ราษฎรทำให้เกิดสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินบ้านโป่งกระทิงจำกัด "เป็นสหกรณ์ในโครงการพระราชประสงค์"

ในการเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2521 มีกระแสพระราชดำรัสให้ราชการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรในพื้นที่บ้านโป่งกระทิงบน จำนวน 100 ราย และมีพระราชดำรัสกับราษฎรในพื้นที่ 4 รายที่เฝ้าฯ รับเสด็จฯ บริเวณริมอ่างเก็บน้ำบ้านโป่งกระทิงบนได้แก่
  • นายเดชา ชีช่วง ตำแหน่งกำนันตำบลบ้านบึง
  • นายระเอิน  บุญเลิศ ตำแหน่งกำนันตำบลสวนผึ้ง
  • นายดง บุญเลิศ ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านบึง
  • นายภิภพ  สวนวัฒนา ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านบึง
มีพระประสงค์ให้ "เกษตรกรควรจะรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์เพื่อรวมกันซื้อ รวมกันขาย และช่วยเหลือกัน" และทรงแนะนำให้นายเดชา  ชีช่วง ตำแหน่งกำนันตำบลบ้านบึง ในขณะนั้นเป็นประธานสหกรณ์ในระยะแรกก่อน เพื่อให้สหกรณ์เป็นรูปเป็นร่าง หลังจากนั้น อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายสุรินทร์ ชลประเสริฐ ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมสหกรณ์มาจัดตั้งสหกรณ์ ดำเนินการแล้วเสร็จใน 1 เดือน ใช้ชื่อว่า "สหกรณ์การเกษตรโป่งกระทิง จำกัด" มีสมาชิก 400 คน ทำธุรกิจขายสินค้า (ข้าวสาร) ให้สินเชื่อแก่สมาชิก สหกรณ์การเกษตรโป่งกระทิง จำกัด ดำเนินกิจการได้ประมาณ 5-6 ปี ประสบปัญหาไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ทางราชการจึงได้จัดตั้งสหกรณ์ขึ้นใหม่ในพื้นที่เดิม ชื่อ "สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินบ้านโป่งกระทิง จำกัด" เมื่อปี พ.ศ.2535 โดยมีศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการตามพระราชประสงค์โป่งกระทิง สังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้แนะนำส่งเสริมสหกรณ์ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์


********************************

ที่มาข้อมูลและภาพ
  • คณะทำงานจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ.(2553).พระมหากรุณาธิคุณต่อจังหวัดราชบุรี.กรุงเทพฯ : บางกอกอินเฮ้าส์. (ดูภาพหนังสือ)

ไม่มีความคิดเห็น: