วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคกลาง จ.ราชบุรี

กว่าจะมาเป็นสวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคกลาง
ปี พ.ศ.2528 กระทรวงเกาตรและสหกรณ์ได้จัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีประจำภาคต่างๆ ภาคละ 1 แห่ง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในวโรกาสมหามงคลสมัย พระราชพิธีฌแลมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก วันที่ 2 กรกฎาคม 2531 และในวันที่ 2 สิงหาคม 2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดสวนพฤกษศาสตร์ฯ
ความเป็นมาเกี่ยวกับราชวงศ์จักรี กล่าวคือ ในปี ร.ศ.114 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินถ้ำจอมพล ได้ทรงแวะประทับพักผ่อนที่บริเวณเขาประทับช้าง ต่อมาปี พ.ศ.2547 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินเขาประทับช้างในการนำกองเสือป่าเดินทางไกล
นับแต่การดำเนินการจัดสร้างเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2530 เป็นต้นมา สวนพฤกษศาสตร์ฯ เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานป่าไม้เขตบ้านโป่ง กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2547 ได้มีการปฏิรูประบบราชการ สวนพฤกษศาสตร์ฯ จึงย้ายไปสังกัดสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 5 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จนกระทั่งปี พ.ศ.2548 สวนพฤกษศาสตร์เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 3 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนถึงปัจจุบัน
วิสัยทัศน์
ทรัพยากรเพิ่มพูน แหล่งเรียนรู้สมบูรณ์ ศูนย์ท่องเที่ยวมาตรฐาน ก้าวหน้างานวิชาการ วรรณคดีสืบสาน องค์การพัฒนา
วัตถุประสงค์
เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้ในวรรณคดี เป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งศึกษาความรู้ทางวิชาการ และด้านพฤกษศาสตร์
สถานที่ตั้ง
ตั้งอยู่ที่ ต.ปากช่อง อ.จอมบึง, ต.หินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี พื้นที่ 1,287 ไร่
สภาพทั่วไป
ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบล้อมภูเขาประทับช้าง ชนิดของดินเป็นดินร่วนปนทราย สภาพป่ามีสภาพเป็นป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ สวนพฤษศาสตร์ฯ เป็นแหล่งรวบรวมจัดปลูกพันธุ์ไม้ในวรรณคดีตามบทกลอน 10 เรื่อง อันได้แก่ อิเหนา ขุนช้างขุนแผน ดาหลัง พระอภัยมณี รามเกียรติ์ ลิลตพระลอ ลิลิตตะเลงพ่าย อุณรุฑ กาพย์เห่เรือฯ นิราศเมืองเพชร และต้นไม้ในพุทธประวัติ ซึ่งแบ่งเป็น 33 แปลง รวมพันธุ์ไม้ 357 ชนิด และเป็นสถานที่สำหรับศึกษาความรู้ด้านทรัพยากรป่าไม้และพฤกษศาสตร์ กิจกรรมค่ายพักแรม ฐานเรียนรู้ทางธรรมชาติ ท่องเที่ยว พักผ่อน จัดประชุม อบรม แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจทั่วไป
จุดเด่นที่น่าสนใจ
  • แปลงปลูกพรรณไม้ในวรรณคดี
  • เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติบนภูเขา
  • สวนสมุนไพร
  • สวนไม้มงคลประจำจังหวัด
  • สวนไม้ในพุทธประวัติ
  • สวนไม้จามบทเพลง "อุทยานดอกไม้"

สถานที่ติดต่อ
อาคารศาลาเกษตร สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคกลาง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี โทร.08-1944-9718

ที่มา :
สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคกลาง จ.ราชบุรี. (2553). แผ่นพับประชาสัมพันธ์. แจกจ่ายในงานกาชาดเที่ยวราชบุรีปี 2553.

ไม่มีความคิดเห็น: