วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การส่งเสริมสุขภาพและเสือป่า

ชื่อโครงการ : โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การส่งเสริมสุขภาพ และเสือป่า เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

หลักการและเหตุผล
ศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี ก่อตั้งและเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2512 ตอนนั้นใช้ชื่อว่า ศูนย์อนามัยแม่และเด็กเขต 7 กรมอนามัย ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตามโครงสร้างการบริหารของกรมอนามัยเป็นศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเขต 7 ราชบุรี ในปี 2530 ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเขต 4 ราชบุรี ในปี 2534 และเปลี่ยนเป็นศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี ในปี 2545



ภายในศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี มีอาคารเก่าอยู่ 1 หลังมีชื่อว่า อาคารสโมสรเสือป่า ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันปีที่สร้าง มีเพียงหลักฐานยืนยันว่าได้ก่อสร้างก่อนปี พ.ศ.2456 เนื่องจากมีการกล่าวในจดหมายเหตุพระราชกรณียกิจรายวันของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พ.ศ.2456 ความว่า

...วันที่ 29 กันยายน เวลาบ่าย เสด็จเยี่ยมโรงทหารกองพลที่ 4 มณฑลราชบุรี...แล้วเสด็จประทับเสวยเครื่องว่างที่สโมสรเสือป่าเมืองราชบุรี แล้วเสด็จทอดพระเนตรไฟฉายของทหารที่หน้าสโมสรเสือป่า แล้วเสด็จกลับพลับพลาที่ประทับ...

ลักษณะของสถาปัตยกรรมของอาคารหลังนี้ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ทรงปั้นหยาตามแบบที่นิยมสร้างกันในสมัยรัชกาลที่ 5-6 หลังคาดว่าได้ถูกบูรณะเปลี่ยนใหม่จากหลังคามุงกระเบื้องว่าวเป็นกระเบื้องลอนแทน ชั้นล่างตรงกลางเป็นบันไดไม้ขนาดใหญ่ ด้านข้างเป็นห้องใหญ่สองห้อง พื้นที่ด้านหน้าและด้านหลังของอาคารทั้ง 2 ชั้น เป็นราวระเบียงปูนประดับด้วยหัวเสือปูนปั้น พื้นระเบียงชั้นล่างด้านหน้าปูกระเบื้องเคลือบเขียนสี ส่วนด้านหลังเป็นพื้นไม้ อาคารชั้นบนเป็นพื้นไม้ทั้งหมด ช่วงกลางราวระเบียงมีป้าย สโมสรเสือป่า

ตามประวัติศาสตร์ขอกิจการเสือป่าพบว่า หลังจากรัชกาลที่ 6 ทรงจัดตั้งกองเสือป่าครั้งแรกเมือ่วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2454 ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองลูกเสือขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง(โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2454 และโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกิจการลูกเสือไปยัง 18 มณฑล ในปี 2455 มีกองลูกเสือ 162 กอง ต่อมาทรงกำหนดให้กองเสือป่าแต่ละกองมี สโมสรเสือป่า สำหรับเป็นที่ชุมนุมสังสรรค์ เป็นที่เล่นกีฬาต่างๆ อีกทั้งเป็นที่อบรมสั่งสอนและประชุมปรึกษากิจการเสือป่าด้วย สโมรเสือป่าจัดตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2454 บริเวณสนามเสือป่า ต่อมาทรงให้จัดตั้งสโมสรเสือป่าขึ้นตามหัวเมืองต่างๆ เมื่อกองเสือป่าเลิกไป สโมสรเสือป่าได้แปรสภาพเป็นสโมรข้าราชการหรือเป็นสโมสรของจังหวัดหรือเป็นสถานที่ราชการไป
อาคารสโมสรเสือป่าจังหวัดราชบุรีหลังนี้ จึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่อกิจการเสือป่า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จมาประทับพัก นอกจากนี้ ยังมีความสำคัญต่อศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี เคยใช้เป็นสถานที่ให้บริการอนามัยแม่และเด็ก รวมทั้งให้บริการวางแผนครอบครัวของศูนย์ฯ มาก่อน อาคารหลังนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน กับกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2542
ด้วยปี พ.ศ.2554 เป็นปีมหามงคลยิ่งของปวงชนชาวไทย รัฐบาลจึงได้จัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และเป็นที่กองเสือป่าได้ก่อตั้งครบ 100 ปีพอดี แม้ว่าปัจจุบันกองเสือป่าจะยกเลิกไป แต่กิจการลูกเสือยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และในปัจจุบันนั้ มีพระราชบัญญัติลูกเสือแห่งชาติ พ.ศ.2551 รองรับภารกิจนี้อยู่ โดยมีกระทรวงศึกษาะการกำกับดูแล
เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าทั้ง 3 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาประทับเสวยเครื่องว่าง ณ อาคารสโมสรเสือป่าในปี พ.ศ.2456 และอีก 56 ปี ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารศูนย์อนามัยที่ 4 จังหวัดราชบุรี ในปี 2512
ศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี จึงได้จัดทำโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การส่งเสริมสุขภาพและเสือป่า เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 เพื่ออนุรักษ์อาคารสโมสรเสือป่า ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เคยเป็นที่ประกอบการกิจการลูกเสือไทยและเคยเป็นสถานที่ให้บริการส่งเสริมสุขภาพของกรมอนามัย ให้เป็นแหล่งศึกษาและเรียนรู้แก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป
วัตถุประสงค์
  1. เพื่ออนุรักษ์อาคารสโมสรเสือป่า ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จฯ มาประทับ ให้คงอยู่สภาพดังเดิม
  2. เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ ด้านวิวัฒนาการบริการส่งเสริมสุขภาพและกิจการเสือป่า ของจังหวัดราชบุรี
  3. เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่าของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมไทยและเห็นคุณประโยชน์ของการบริการส่งเสริมสุขภาพต่อการพัฒนาสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตลอดจนเห็นคุณค่าของกิจการลูกเสือต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย
  4. เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรกษ์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดราชบุรี

กิจกรรมหลัก

  1. สำรวจอาคารและออกแบบโดยขอความร่วมมือกรมศิลปากรและพิพิธภัณฑ์สยาม
  2. แต่งตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงาน
  3. จัดทำผังแสดงเนื้อหาและการนำเสนอประกอบด้วย (1)การบริการส่งเสริมสุขภาพ (2) กิจการเสือป่า
  4. ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  5. ดำเนินการปรับปรุงและตบแต่งอาคารสถานที่ ติดตั้งโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ
  6. กราบบังคมเชิญเสด็จพระราชดำเนินเปิดพอพิธภัณฑ์

งบประมาณ

  1. ค่าสำรวจออกแบบ 200,000 บาท (ศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี)
  2. ค่าปรับปรุงอาคารโครงสร้างภายนอก 1,500,000 บาท (ศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี)
  3. ค่าปรับปรุงอาคารและโครงสร้างภายใน 1,000,000 บาท(สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ)
  4. ค่าอุปกรณ์ตกแต่งภายใน 1,000,000 บาท (กองทุนพัฒนาชุมชน จ.ราชบุรี ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า)
  5. ค่าจัดทำชุดนิทรรศการถาวร 2,000,000 บาท (กองทุนพัฒนาชุมชน จ.ราชบุรี ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า)
  6. ระบบไฟฟ้าของอาคาร 500,000 บาท (งบพัฒนาจังหวัด)
  7. ครุภัณฑ์โสตทัศนูปกรณ์ 1,000,000 บาท (งบพัฒนาจังหวัด)

รวม 8,200,000 บาท

ระยะเวลาดำเนินการ ต.ค.2553-ก.ย.2554

ผู้รับผิดชอบโครงการ

  1. ศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี
  2. สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
  3. สำนักศิลปากรที่ 1 จ.ราชบุรี

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
จะได้พิพิธภัณฑ์การส่งเสริมสุขภาพและเสือป่าที่ได้มาตรฐานสวยงาม สมพระเกียรติและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งของ จ.ราชบุรี และทำให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็นคุณประโยชน์ของการบริการอนามัยแม่และเด็ก การวางแผนครอบครัวต่อการพัฒนาสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเห็นคุณค่าของกิจการลูกเสือต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย

นายจรัญ จักรวาลชัยศรี นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ ผู้เสนอโครงการ
นายแพทย์พนัส พฤกษ์สุนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี ผู้อนุมัติโครงการ


ไม่มีความคิดเห็น: