วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ศึกษารถไฟทางคู่ นครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน (ตอนที่ 1)

ในการประชุมครั้งที่ 11/2552 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 ของคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ได้มีมติให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการ ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นระบบรถไฟทางคู่เพื่อการขนส่งและการจัดการโลจิสติกส์ (ระยะที่ 1) ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง พ.ศ. 2552 - 2553 (แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2)เพื่อช่วยเร่งรัดการลงทุนที่สำคัญภายในประเทศและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันกับต่างประเทศ ซึ่งนับวันจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ก็ได้รับทราบและเห็นชอบมติดังกล่าวและถือเป็นนโยบายที่สำคัญจากรัฐบาลที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินโครงการโดยเร็ว

ต่อมาในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 16/2552 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งเห็นชอบในหลักการพัฒนารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 767 กิโลเมตร ในเส้นทางสำคัญ 5 เส้นทางคือ
  1. ลพบุรี-นครสวรรค์ ระยะทาง 118 กิโลเมตร
  2. มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร
  3. ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร
  4. นครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร
  5. ประจวบคิรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร


กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นระบบรถไฟทางคู่เพื่อการขนส่งและการจัดการโลจิสติกส์ (ระยะที่ 1) เพื่อพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศไทยให้ทันสมัยและมีศักยภาพทัดเทียมในระดับสากล

การศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้น ระบบรถไฟทางคู่เพื่อการขนส่งและการจัดการโลจิสติกส์ (ระยะที่ 1) เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 ถึงเดือนสิงหาคม 2553 โดยมีแผนการดำเนินงานดังนี้
  1. การทบทวนผลการศึกษาและการดำเนินงานของโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการวิเคราะห์หาแนวทางในการเพิ่มสัดส่วนการเดินทางและการขนส่งโดยระบบรางในอนาคต
  2. การสำรวจ รวบรวม วิเคราะห์และคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารและสินค้า เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ โดยการจัดการปรับปรุงโครงขยายระบบรางให้เหมาะสม
  3. งานวิเคราะห์และศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคมการเงิน และแนวเส้นทางที่เหมาะสมในการลงทุน เพื่อศึกษา คัดเลือกโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ในเส้นทางที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน ไม่น้อยกว่า 2 เส้นทาง (ระยะทางรวมประมาณ 400 กิโลเมตร)
  4. การออกแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) เพื่อจัดทำแผนผังแนวแบบเบื้องต้น (Preliminary Drawings) และออกแบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สำหรับบริการผู้โดยสารและสินค้าย่านสถานี และประมาณราคาก่อสร้างและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเบื้องต้นเมื่อออกแบบเรียบร้อยแล้ว
  5. การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด พร้อมทั้งหามาตรการแก้ไขผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น ช่วยให้เกิดประโยชน์จากการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  6. การมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชาสัมพันธ์  เพื่อผลักดันโครงการรถไฟทางคู่ให้เป็น “ระบบหลัก” ในการขนส่งสินค้าและบริการที่ส่งเสริมศักยภาพทางธุรกิจ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ เป็นแกนหลักการพัฒนาที่สำคัญ ในการพัฒนาเมือง คุณภาพชีวิต เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการ ทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ
กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการประกอบด้วย
  • บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด
  • บริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด
  • บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด
  • บริษัท สแปน จำกัด
  • บริษัท พีบี เอเชีย จำกัด
ที่มา :
-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร . (2553).พร้อมก้าวสู่การพัฒนา.ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นระบบรถไฟทางคู่เพื่อการขนส่งและการจัดการโลจิสติกส์ (ระยะที่ 1). [Online]. Available :http://www.doubletrackthailand.com/info.php . [2553 กรกฎาคม 1 ].
-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร. (2553). ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นระบบรถไฟทางคู่เพื่อการขนส่งและการจัดการโลจิสติกส์ (ระยะที่ 1). แผ่นพับประชาสัมพันธ์.

ไม่มีความคิดเห็น: