วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โครงการอุทยานแห่งความจงรักภักดี


โครงการอุทยานแห่งความจงรักภักดี ตั้งอยู่บริเวณเทือกอุทยานหินเขางู ต.เขางู อ.เมือง จ.ราชบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา และเพื่อให้เกิดศูนย์เรียนรู้แก่ข้าราชการ พ่อต้า ประชาชน และพสกนิกรทุกภาคส่วนในเรื่องโครงการตามพระราชดำริต่างๆ โครงการประกอบด้วยพื้นที่ 5 ส่วน ดังนี้
พื้นที่ส่วนที่ 1 เนื้อที่ 240 ไร่ จะก่อสร้างพระฉายาสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นประติมากรรมลายเส้นโลหะ ขนาดสูง 60 เมตร ประดิษฐานอย่างถาวรบนหน้าผาเขางู ซึ่งสูง 180 เมตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบของกรมศิลปากร งบประมาณการก่อสร้างจะใช้จากเงินบริจาคจากข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศ

-อาคารหลัก แสดงพระราชประวัติพระบรมราชจักรีวงศ์ในอดีตทุกพระองค์ พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จเจ้าฟ้าทุกพระองค์ ส่วนแสดงประวัติศาสตร์ราชบุรี แสดงนิทรรศการเพื่อการศึกษาเรียนรู้โครงการตามพระราชดำริ ในทุกประเภทของโครงการตามพระราชดำริทั่วประเทศ
พื้นที่ส่วนที่ 2 พื้นที่ต่อเนื่องเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ประกอบด้วย
  • สวนไม้ในวรรณดคี สวนพันธุ์ไม้สมุนไพร
  • ลานพักแรม แคมป์พักแรมของนักเรียน นักศึกษา
  • สวนป่าไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดและพื้นที่นันทนาการ
  • แปลงสาธิตโครงการตามพระราชดำริ ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่

พื้นที่ส่วนที่ 3 พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเขตโบราณสถาน ได้แก่ บริเวณเทือกเขางูทั้งหมดที่ยังมิได้ถูกระเบิดทำลาย ซึ่งยังคงสภาพป่าไม้ธรรมชาติอันเป็นที่อาศัยของฝูงลิงนับพันตัว และเขตโบราณสถานสมัยทวาราวดี-อยุธยา เนื้อที่รวมประมาณ 1 ตารางกิโลเมตรเศษ

พื้นที่ส่วนที่ 4 ที่ดินสาธารณประโยชน์ เนื้อที่ 51 ไร่เศษ ห่างจากพื้นที่อุทยานแห่งความจงรักภักดีประมาณ 2 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออก จะเป็นศูนย์สาธิตโครงการตามพระราชดำริด้านการเกษตร ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำ และโครงการแก้มลิง โดยมีที่ดินของราษฎรโดยรอบแหล่งน้ำ เข้าร่วมจัดทำการเกษตรเป็นหมู่บ้านตัวอย่างโครงการตามพระราชดำริด้านการเกษตร และการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมจำนวนเนื้อที่ดินของเกษตรกร ผู้เข้าร่วมโครงการ ประมาณ 1,000 ไร่
พื้นที่ส่วนที่ 5 ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลเจดีย์หัก ห่างจากพื้นที่อุทยานแห่งความจงรักภักดี เพียง 1 กิโลเมตรทางทิศใต้ เป็นกลุ่มเกษตรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการปลูกและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และผลิตข้าวเปลือกและข้าวสารที่มีคุณภาพ มีสมาชิกเกษตรทำนา 370 ราย 287 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 6,200 ไร่ พื้นที่ส่วนนี้ จะเป็นพื้นที่ส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้การผลิตพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และการผลิตข้าวสารที่มีคุณภาพ
สถานะโครงการในปัจจุบัน
1.พื้นที่ส่วนที่ 1 ได้ดำเนินการดังนี้
1.1 จังหวัดราชบุรีได้ว่าจ้างบริษัท เคนเบอร์ จีโอเทคนิค(ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการเสริมสร้างความมั่นคงเบื้องต้นหน้าผาเขางู เพื่อทำความมั่นคงแข็งแรงของหน้าผาเขางูก่อนการสร้างพระฉายาสาทิสลักษณ์ โดยใช้งบประมาณ 9,262,000 บาท (สัญญาเริ่ม 26 กันยายน 2551 และสิ้นสุดวันที่ 24 มีนาคม 2552) และจ่ายค่าควบคุมงาน จำนวน 35,250 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,297,250 บาท ปัจจุบันมียอดเงินคงเหลือที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป จำนวน 2,359,873.44 บาท
1.2 การดำเนินงานจัดสร้างพระราชานุสาวรีย์ และอาคารเฉลิมพระเกียรติ(สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.ราชบุรี รับผิดชอบ) มีรายละเอียด ดังนี้
1.2.1 การก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์ (พระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี) เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงแบบแปลน ทำให้จำนวนหลุมที่ต้องเจาะเพื่อทำการยึดหน้าผามีจำนวนมากขึ้น โดยจำเป็นต้องเสริมฐานการก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก 500 จุด งบประมาณประมาณ 5,000,000 บาท จึงจะดำเนินการเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ซึ่ง จ.ราชบุรี ได้ตั้งงบประมาณสนับสนุนโดยใช้งบพัฒนาจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 จำนวน 5,500,000 บาท
1.2.2 การก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ (อาคารหมายเลข 9) แบบแปลนและแผนงานก่อสร้างได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว แต่เนื่อจากการก่อสร้างต้องใช้งบประมาณประมาณ 230,000,000 บาท ปัจจุบันไม่สามารถหาแหล่งงบประมาณสนับสนุนได้
2.พื้นที่ส่วนที่ 2 ได้ดำเนินการดำเนินงานปรับปรุงพื้นที่บริเวณเทือกเขางู (สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ราชบุรี รับผิดชอบ) ได้รับการสนับสนุนจากงบพัฒนา จ.ราชบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 ที่เกี่ยวข้องกับโครงการอุทยานแห่งความจงรักภักดี จำนวน 5 โครงการ คือ
2.1 โครงการสวนไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด งบประมาณ 760,000 บาท วัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด จำนวน 76 จังหวัด ดำเนินการปลูกในพื้นที่ 10 ไร่
2.2 โครงการสวนไม้สมุนไพรและสวนไม้ในวรรณคดี งบประมาณ 1,500,000 บาท มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกรวบรวมไว้ในอุทยานแห่งความจงรักภักดี ในเนื้อที่ 30 ไร่
2.3 โครงการจัดระบบน้ำหยดหล่อเลี้ยงแปลงสาธิตอุทยานแห่งความจงรักภักดี งบประมาณ 500,000 บาท มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำระบบน้ำในการดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูกในอุทยานแห่งความจงรักภักดี ในเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่
2.4 โครงการพัฒนาแหล่งศึกษาพันธุ์ไม้ในอุทยานแห่งความจงรักภักดี งบประมาณ 136,960 บาท เพื่อวัตถุประสงค์จัดทำป้ายเพื่อแสดงรายละเอียดต้นไม้และป้านสวนไม้
2.5 โครงการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณอุทยานแห่งความจงรักภักดี งบประมาณ 328,000 บาท เพื่อก่อสร้างศาลาเอนกประสงค์พร้อมห้องสุขา จำนวน 1 หลัง
3.พื้นที่ส่วนที่ 3 ได้ปรับปรุงโบราณสถานที่มีอยู่คือ "โครงการปรับปรุงบันไดทางขึ้นรอยพระพุทธบาทถ้ำฝาโถ ถ้ำจีน ถ้ำจาม" (สำนักงานศิลปากรที่ 1 รับผิดชอบ) งบประมาณ 1,500,000 บาท ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว
4. พื้นที่ส่วนที่ 4 ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์สาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ในโครงการอุทยานแห่งความจงรักภักดี (สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.ราชบุรี รับผิดชอบ) ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2552ได้รับมอบหมายให้จัดทำโครงการศูนย์สาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ (ศูนย์การเรียนรู้บ้านหนองมน) งบประมาณทั้งสิ้น 964,000 บาท เพื่อศึกษาเรียนรู้โครงการตามพระราชดำริด้านการเกษตร ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร โดยมีกิจกรรม ดังนี้
  • กิจกรรมอำนวยการ งบประมาณ 114,000 บาท
  • กิจกรรมสาธิตการเพาะเห็ด งบประมาณ 92,000 บาท
  • กิจกรรมสาธิตการเลี้ยงปลา งบประมาณ 88,000 บาท
  • กิจกรรมสาธิตการเลี้ยงสัตว์ปีก งบประมาณ 80,000 บาท
  • กิจกรรมสาธิตการปลูกพืช งบประมาณ 82,500 บาท
  • กิจกรรมสาธิตการปลูกข้าว งบประมาณ 20,000 บาท
  • กิจกรรมสาธิตการใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ งบประมาณ 17,500 บาท
  • กิจกรรมปรับปรุงสภาพพื้นที่แปลงและทำถนนลูกรัง งบประมาณ 470,000 บาท

ซึ่งทุกกิจกรรมได้ดำเนินการตามแผนด้วยดี ไม่มีอุปสรรคปัญหาแต่อย่างใด

5.พื้นที่ส่วนที่ 5 ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน บ้านรังไม้แดง (สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี) ซึ่งในปีงบประมาณ 2552 สำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามแผนพัฒนาจังหวัดราชบุรี เพื่อดำเนินโครงการศูนย์ส่งเสริมและผลิตภัณฑ์ข้าวชุมชน งบประมาณ 2,100,000 บาท วัตถุประสงค์เพื่อการสร้างศูนย์เรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ชาวนา เป๋นศูนย์เรียนรู้การผลิตข้าวของเกษตรกร และการอนุรักษ์ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมชาวนา และเป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านผลิตข้าวแบบครบวงจร เชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตข้าวของจังหวัดราชบุรี รวมทั้งพัฒนาเป็นจุดท่องเที่ยวเชิงเกษตร สามารถสรุปผลการดำเนินกิจกรรม ได้ดังนี้

  1. ก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ชาวนา งบประมาณ 1,500,000 บาท
  2. จัดสร้างพระแม่โพสพ งบประมาณ 100,000 บาท ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว
  3. จัดหาวัสดุอุปกรณ์ภายนศูนย์เรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ชาวนา งบประมาณ 120,000 บาท
  4. จัดซื้อเครื่องโสตทัศนูปกรณ์พร้อมอุปกรณ์ งบประมาณ 200,000 บาท
  5. จัดทำนิทรรศการเทคโนโลยีการเกษตร งบประมาณ 90,000 บาท
  6. จัดทำเอกสารแนะนำ งบประมาณ 90,000 บาท

6.จังหวัดราชบุรีได้สนับสนุนการดำเนินงานโครงการอุทยานแห่งความจงรักภักดีในปีงบประมาณ พ.ศ.2554 คือ "โครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในอุทยานแห่งความจงรักภักดี" งบประมาณ 27,473,000 บาท โดยมีรายละเอียดกิจกรรม ดังนี้

  1. กิจกรรมพัฒนาชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง (ศูนย์การเรียนรู้บ้านหนองใน) งบประมาณ 1,570,000 บาท ดำเนินการในพื้นที่ส่วนที่ 3
  2. กิจกรรมปลูกสวนไม้มงคลพระราชทานและสวนไม้วรรณคดีและสวนไม้สมุนไพร งบประมาณ 2,403,000 บาท ดำเนินการในพื้นที่ส่วนที่ 2
  3. กิจกรรมพัฒนาระบบน้ำสนับสนุนพื้นที่อุทยานแห่งความจงรักภักดี งบประมาณ 12,000,000 บาท ดำเนินการในพื้นที่ส่วนที่ 1
  4. กิจกรรมพัฒนาชุมชนเกษตรกรรมในพื้นที่อุทยานแห่งความจงรักภักดี (ศูนย์การเรียนรู้บ้านรังไม้แดง) งบประมาณ 6,000,000 บาท ดำเนินการในพื้นที่ส่วนที่ 5
  5. กิจกรรมปรับเสริมความแข็งแรงหน้าผาเขางูเพื่อรองรับการก่อสร้างพระฉายาทิสลักษณ์สมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชชนนี งบประมาณ 5,500,000 บาท ดำเนินการในพื้นที่ส่วนที่ 1

ที่มา : เอกสารประกอบการประชุมและตรวจพื้นที่โครงการอุทยานแห่งความจงรักภักดี เมื่อ 3 ก.พ.2553 ณ ที่ห้องประชุมคลินิกหมออาคาร โดยมี นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธาน

อ่านต่อ >>

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การส่งเสริมสุขภาพและเสือป่า

ชื่อโครงการ : โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การส่งเสริมสุขภาพ และเสือป่า เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

หลักการและเหตุผล
ศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี ก่อตั้งและเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2512 ตอนนั้นใช้ชื่อว่า ศูนย์อนามัยแม่และเด็กเขต 7 กรมอนามัย ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตามโครงสร้างการบริหารของกรมอนามัยเป็นศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเขต 7 ราชบุรี ในปี 2530 ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเขต 4 ราชบุรี ในปี 2534 และเปลี่ยนเป็นศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี ในปี 2545



ภายในศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี มีอาคารเก่าอยู่ 1 หลังมีชื่อว่า อาคารสโมสรเสือป่า ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันปีที่สร้าง มีเพียงหลักฐานยืนยันว่าได้ก่อสร้างก่อนปี พ.ศ.2456 เนื่องจากมีการกล่าวในจดหมายเหตุพระราชกรณียกิจรายวันของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พ.ศ.2456 ความว่า

...วันที่ 29 กันยายน เวลาบ่าย เสด็จเยี่ยมโรงทหารกองพลที่ 4 มณฑลราชบุรี...แล้วเสด็จประทับเสวยเครื่องว่างที่สโมสรเสือป่าเมืองราชบุรี แล้วเสด็จทอดพระเนตรไฟฉายของทหารที่หน้าสโมสรเสือป่า แล้วเสด็จกลับพลับพลาที่ประทับ...

ลักษณะของสถาปัตยกรรมของอาคารหลังนี้ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ทรงปั้นหยาตามแบบที่นิยมสร้างกันในสมัยรัชกาลที่ 5-6 หลังคาดว่าได้ถูกบูรณะเปลี่ยนใหม่จากหลังคามุงกระเบื้องว่าวเป็นกระเบื้องลอนแทน ชั้นล่างตรงกลางเป็นบันไดไม้ขนาดใหญ่ ด้านข้างเป็นห้องใหญ่สองห้อง พื้นที่ด้านหน้าและด้านหลังของอาคารทั้ง 2 ชั้น เป็นราวระเบียงปูนประดับด้วยหัวเสือปูนปั้น พื้นระเบียงชั้นล่างด้านหน้าปูกระเบื้องเคลือบเขียนสี ส่วนด้านหลังเป็นพื้นไม้ อาคารชั้นบนเป็นพื้นไม้ทั้งหมด ช่วงกลางราวระเบียงมีป้าย สโมสรเสือป่า

ตามประวัติศาสตร์ขอกิจการเสือป่าพบว่า หลังจากรัชกาลที่ 6 ทรงจัดตั้งกองเสือป่าครั้งแรกเมือ่วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2454 ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองลูกเสือขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง(โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2454 และโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกิจการลูกเสือไปยัง 18 มณฑล ในปี 2455 มีกองลูกเสือ 162 กอง ต่อมาทรงกำหนดให้กองเสือป่าแต่ละกองมี สโมสรเสือป่า สำหรับเป็นที่ชุมนุมสังสรรค์ เป็นที่เล่นกีฬาต่างๆ อีกทั้งเป็นที่อบรมสั่งสอนและประชุมปรึกษากิจการเสือป่าด้วย สโมรเสือป่าจัดตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2454 บริเวณสนามเสือป่า ต่อมาทรงให้จัดตั้งสโมสรเสือป่าขึ้นตามหัวเมืองต่างๆ เมื่อกองเสือป่าเลิกไป สโมสรเสือป่าได้แปรสภาพเป็นสโมรข้าราชการหรือเป็นสโมสรของจังหวัดหรือเป็นสถานที่ราชการไป
อาคารสโมสรเสือป่าจังหวัดราชบุรีหลังนี้ จึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่อกิจการเสือป่า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จมาประทับพัก นอกจากนี้ ยังมีความสำคัญต่อศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี เคยใช้เป็นสถานที่ให้บริการอนามัยแม่และเด็ก รวมทั้งให้บริการวางแผนครอบครัวของศูนย์ฯ มาก่อน อาคารหลังนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน กับกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2542
ด้วยปี พ.ศ.2554 เป็นปีมหามงคลยิ่งของปวงชนชาวไทย รัฐบาลจึงได้จัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และเป็นที่กองเสือป่าได้ก่อตั้งครบ 100 ปีพอดี แม้ว่าปัจจุบันกองเสือป่าจะยกเลิกไป แต่กิจการลูกเสือยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และในปัจจุบันนั้ มีพระราชบัญญัติลูกเสือแห่งชาติ พ.ศ.2551 รองรับภารกิจนี้อยู่ โดยมีกระทรวงศึกษาะการกำกับดูแล
เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าทั้ง 3 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาประทับเสวยเครื่องว่าง ณ อาคารสโมสรเสือป่าในปี พ.ศ.2456 และอีก 56 ปี ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารศูนย์อนามัยที่ 4 จังหวัดราชบุรี ในปี 2512
ศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี จึงได้จัดทำโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การส่งเสริมสุขภาพและเสือป่า เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 เพื่ออนุรักษ์อาคารสโมสรเสือป่า ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เคยเป็นที่ประกอบการกิจการลูกเสือไทยและเคยเป็นสถานที่ให้บริการส่งเสริมสุขภาพของกรมอนามัย ให้เป็นแหล่งศึกษาและเรียนรู้แก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป
วัตถุประสงค์
  1. เพื่ออนุรักษ์อาคารสโมสรเสือป่า ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จฯ มาประทับ ให้คงอยู่สภาพดังเดิม
  2. เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ ด้านวิวัฒนาการบริการส่งเสริมสุขภาพและกิจการเสือป่า ของจังหวัดราชบุรี
  3. เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่าของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมไทยและเห็นคุณประโยชน์ของการบริการส่งเสริมสุขภาพต่อการพัฒนาสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตลอดจนเห็นคุณค่าของกิจการลูกเสือต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย
  4. เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรกษ์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดราชบุรี

กิจกรรมหลัก

  1. สำรวจอาคารและออกแบบโดยขอความร่วมมือกรมศิลปากรและพิพิธภัณฑ์สยาม
  2. แต่งตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงาน
  3. จัดทำผังแสดงเนื้อหาและการนำเสนอประกอบด้วย (1)การบริการส่งเสริมสุขภาพ (2) กิจการเสือป่า
  4. ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  5. ดำเนินการปรับปรุงและตบแต่งอาคารสถานที่ ติดตั้งโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ
  6. กราบบังคมเชิญเสด็จพระราชดำเนินเปิดพอพิธภัณฑ์

งบประมาณ

  1. ค่าสำรวจออกแบบ 200,000 บาท (ศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี)
  2. ค่าปรับปรุงอาคารโครงสร้างภายนอก 1,500,000 บาท (ศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี)
  3. ค่าปรับปรุงอาคารและโครงสร้างภายใน 1,000,000 บาท(สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ)
  4. ค่าอุปกรณ์ตกแต่งภายใน 1,000,000 บาท (กองทุนพัฒนาชุมชน จ.ราชบุรี ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า)
  5. ค่าจัดทำชุดนิทรรศการถาวร 2,000,000 บาท (กองทุนพัฒนาชุมชน จ.ราชบุรี ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า)
  6. ระบบไฟฟ้าของอาคาร 500,000 บาท (งบพัฒนาจังหวัด)
  7. ครุภัณฑ์โสตทัศนูปกรณ์ 1,000,000 บาท (งบพัฒนาจังหวัด)

รวม 8,200,000 บาท

ระยะเวลาดำเนินการ ต.ค.2553-ก.ย.2554

ผู้รับผิดชอบโครงการ

  1. ศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี
  2. สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
  3. สำนักศิลปากรที่ 1 จ.ราชบุรี

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
จะได้พิพิธภัณฑ์การส่งเสริมสุขภาพและเสือป่าที่ได้มาตรฐานสวยงาม สมพระเกียรติและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งของ จ.ราชบุรี และทำให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็นคุณประโยชน์ของการบริการอนามัยแม่และเด็ก การวางแผนครอบครัวต่อการพัฒนาสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเห็นคุณค่าของกิจการลูกเสือต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย

นายจรัญ จักรวาลชัยศรี นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ ผู้เสนอโครงการ
นายแพทย์พนัส พฤกษ์สุนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี ผู้อนุมัติโครงการ


อ่านต่อ >>